วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

คณิตศาสตร์กับศิลป์

คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ทุกคนมองภาพว่าเป็นวิชาที่เกี่ยวกับตัวเลขมีความยากและซับซ้อน การเรียนต้องอาศัยความตั้งใจสูงและสิ่งที่ตามมาคือ ความเครียด ความวิตกกังวล ตลอดจนความล้มเหลวทางการเรียนในที่สุด ความรู้สึกและความคิดเหล่านี้เป็นสาเหตุให้ในปัจจุบันมีผู้ศึกษาในสาขาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีน้อยลงจนขาดแคลน ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขเป็นการด่วน มิฉะนั้นแล้วประเทศไทยจะต้องเข้าสู่ภาวะที่ล้มเหลวทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างแน่นอน เพราะขาดบุคลากรทางด้านนี้นั่นเอง
แนวทางแก้ไขที่ทำได้คือ การที่จะต้องทำให้นักเรียนเปลี่ยนความรู้สึกจากที่ว่าวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ยาก เรียนแล้วเครียด น่าเบื่อหน่าย มาเป็น วิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่เรียนแล้วสนุก มีความน่าสนใจ เป็นการผ่อนคลายความตรึงเครียด และเป็นการสร้างจินตนาการทางการคิดที่กว้างไกล
ศิลปะถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถดึงดูดความสนใจของนักเรียนให้มีความชอบที่จะเรียนมากขึ้น เพราะศิลปะเป็นวิชาที่ไม่มีผิดไม่มีถูก ทุกคนสามารถเรียนได้ และส่วนใหญ่ก็มีความชอบอยู่แล้วเป็นทุนเดิม วิชาคณิตศาสตร์กับศิลปะมีความเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออกเลยที่เดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาระเรขาคณิต ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานของศิลปะก็ว่าได้ ดังนั้นในการเรียนการสอนเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ในส่วนของเรขาคณิตก็น่าจะใช้กิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะที่เกิดจากเส้นตรง มุม ฯลฯ มาให้นักเรียนได้ปฏิบัติในรูปแบบต่าง ๆ เช่น วาดภาพ ต่อรูป โยงเส้น ระบายสี ฯลฯ


รูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นกิจกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์มาประกอบโดยอาศัยความประณีต และความอดทนก็คือ การทำทรงเรขาคณิต ๓ มิติ ในรูปแบบต่าง ๆ โดยใช้เทคนิคการตัดกระดาษ การพับกระดาษแล้วสอด (Origami) เพื่อให้ได้ทรงเรขาคณิตในแบบต่าง ๆ ผลงานที่ได้จะเป็นทรงเรขาคณิตรูปแบบต่าง ๆ คือ ทรงสี่เหลี่ยม ทรงสามเหลี่ยม ทรงหลายเหลี่ยม ฯลฯ ซึ่งชิ้นงานเหล่านี้มีรูปแบบและสีสันที่สวยงามแปลกตา สามารถนำไปใช้เป็นอุปกรณ์การสอนสาระเรขาคณิต สาระศิลปะ ตลอดจนเป็นกิจกรรมเสริมให้กับนักเรียนในกิจกรรมชุมนุม เพื่อให้นักเรียนได้ประดิษฐ์งานของนักเรียนเอง ออกแบบชิ้นงานเอง อันจะนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลายและความสนุกสนานในการเรียนอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น